ประธานเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคเหนือตอนบน ร่วมเวทีเสวนาวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิระดับเครือข่าย และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้าน CWIE ใน “การประชุมเพื่อขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาสหกิจศึกษา”
ศ.เกียรติคุณ ดร. สัญชัย จตุรสิทธา ประธานเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคเหนือตอนบน และผู้อำนวยการสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเวทีเสวนาวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิระดับเครือข่าย และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้าน CWIE โดยร่วมกันนำเสนอ “ผลการดำเนินงานส่งเสริม CWIE และการสะท้อนคิดเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะการดำเนินงานในรูปแบบเครือข่าย” พร้อมกับการอภิปราย ในหัวข้อ “เครือข่าย: กลไกขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ”
จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ประชุมเพื่อขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาสหกิจศึกษา เมื่อวันที่ 12 – 13 กันยายน 2565 ณ ห้องเมจิก 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ และมีนายสมบัติ รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (กคอ.) ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ การประชุมครั้งนี้ และมีคณะผู้บริหารจาก สป.อว. ประธาน ผู้บริหารเครือข่ายฯ และผู้ปฏิบัติงานด้าน CWIE ของสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมการประชุมฯ รวมประมาณ 130 คน
โดยกิจกรรมในวันที่ 12 กันยายน 2565 เริ่มด้วยการนำเสนอ “ผลการดำเนินงานส่งเสริม CWIE และการสะท้อนคิดเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะการดำเนินงานในรูปแบบเครือข่าย” โดย ประธานหรือผู้แทนเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาทั้ง 9 เครือข่าย และการอภิปราย ในหัวข้อ “เครือข่าย: กลไกขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ 1) ดร.อรสา ภาววิมล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. 2) อ.ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มจธ. และประธานเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่าง 3) ศ.เกียรติคุณ ดร. สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ และประธานเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคเหนือตอนบน และ 4) ผศ.ดร. มารุจ ลิมปะวัฒนะ ผู้ช่วยอธิการบดี และผู้อำนวยการสำนักสหกิจศึกษา ม.สยาม เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ผลการประชุมในครั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน CWIE ปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้ อว. ได้นำไปขับเคลื่อนและยกระดับการจัดหลักสูตร CWIE ของประเทศ รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมได้เรียนรู้ Best Practice จากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานจากเครือข่ายระดับต่าง ๆ ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานได้ทำความรู้จักกัน ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งเรียนรู้แนวทางการเป็นผู้ปฏิบัติงานด้าน CWIE ที่ดี สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป